Na Na Sa Ra [นานา สาระ]

วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

"เด็กก้าวร้าว" พฤติกรรมตามวัยจริงหรือ?

การแสดงความก้าวร้าวของเด็กเล็กอาจเกิดขึ้นได้ เช่น พูดจาหยาบคาย ต่อว่า ไม่เคารพผู้อื่น ทุบตี หยิก กัด ผลัก ขว้างปา ทำลายสิ่งของหรืออาจรุนแรงถึงขั้นทารุณกรรมสิ่งมีชีวิตให้บาดเจ็บหรือล้มตาย และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการฝึกเด็กให้ละเมิดสิทธิผู้อื่นจนเกิดความเสียหายทางร่างกาย ทรัพย์สิน หรือทำให้ผู้อื่นกระทบกระเทือนจิตใจ



ทั้งนี้ ความก้าวร้าว อาละวาดง่ายในเด็กอายุ 2 - 5 ปี อาจเกิดขึ้นได้เพราะยังเป็นวัยที่ขาดการควบคุมอารมณ์ตนเอง หรือเด็กบางคนมีพื้นเพทางอารมณ์เป็นเด็กเลี้ยงยาก ปรับตัวยาก จึงเกิดความคับข้องใจและแสดงออกโดยการอาละวาดได้บ่อย ซึ่งสาเหตุของความก้าวร้าวอาจมาจาก



1. สาเหตุทางชีวภาพ อาจเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น พ่อแม่มีอารมณ์ร้าย ดุ ก้าวร้าว ฉุนเฉียวง่าย อาละวาดเก่ง หรือถ้าพบว่าเด็กแสดงออกอย่างก้าวร้าวมากๆ และเป็นบ่อยๆ ควรคำนึงถึงโรคใดโรคหนึ่ง เช่น สมาธิบกพร่อง ไฮเปอร์แอคทีฟ ออทิสติก หรือสมองพิการ



2. สภาพจิตใจของเด็ก เด็กไม่มีความสุข เศร้า กังวล ขี้ตื่นเต้น ตกใจง่าย เด็กที่คับข้องใจบ่อยๆ และถูกกดดันเสมอๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กหงุดหงิดและอาจแสดงวาจากิริยาก้าวร้าวได้



3. การเลี้ยงดูภายในครอบครัว



- การทอดทิ้งไม่เอาใจใส่ดูแลเด็ก

- การลงโทษรุนแรง

- การตามใจและยอมตามเด็กเสมอ

- การทะเลาะกันภายในครอบครัว

- การยั่วยุอารมณ์ให้เด็กโกรธ

- การขาดระเบียบวินัยในชีวิต

- การที่เด็กทำผิดแล้วผู้ใหญ่ให้ท้าย

- การสื่อความหมายไม่ชัดเจน ทำให้เด็กสับสน กังวล ไม่รู้จักความผิดที่แน่นอน



4. จากสภาพสังคม สิ่งแวดล้อม เด็กที่ดูภาพยนตร์ โทรทัศน์ วิดีโอ ที่แสดงออกถึงความก้าวร้าวรุนแรง ไม่มีกิจกรรมอื่นที่เป็นการเคลื่อนไหวของร่างกายเพื่อคลายเครียด เมื่อถูกเร้าให้เกิดความเครียดส่วนใหญ่ก็มักจะแสดงออกเป็นพฤติกรรมก้าวร้าวได้ง่าย



นอกจากนี้ข่าวสารต่างๆ ปัญหาความเครียดในสังคม ท่าที ทัศนคติของเพื่อน คุณครู ฯลฯ ล้วนก่อให้เกิดความเครียดหรือเป็นแบบอย่างของความก้าวร้าวได้ทั้งสิ้น และเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ ตลอดจนผู้เลี้ยงดูในการช่วยเหลือปรับพฤติกรรมและอารมณ์ของเด็กให้ดีขึ้นได้



วิธีป้องกันและแก้ไข



1. ผู้ใหญ่ต้องหยุดการกระทำอันก้าวร้าวของเด็กโดยทันที และต้องไม่ตอบโต้ด้วยความรุนแรงเพราะเป็นการสอนให้เด็กเลียนแบบโดยไม่รู้ตัว เช่น หากเด็กมีการขว้างปาสิ่งของ หรือทุบตีผู้อื่น อาจจัดการให้เด็กหยุดด้วยวิธีสงบ เช่น จับมือรวบตัวเอาไว้ บอกสั้นๆ ว่าตีไม่ได้ และของชิ้นนี้ไม่ได้มีไว้เพื่อปา



ในขณะเดียวกัน การพูดว่า "แม่รู้ว่าหนูโกรธ แต่เราไม่อนุญาตให้ตีกัน และแม่ก็ไม่อนุญาตให้น้องทำกับหนูเช่นกัน" จะเป็นตัวช่วยให้เด็กเข้าใจความรู้สึกโกรธ และหยุดยั้งการกระทำของเด็กได้ในเวลาเดียวกัน



2. แนะนำทางออกอื่นให้เด็ก เช่น เมื่อเด็กโกรธกันขึ้นมา ก็สามารถเดินมาบอกผู้ใหญ่ให้ว่ากล่าวคู่กรณีได้ แต่ตีกันไม่ได้ เด็กจะเรียนรู้ว่าการก้าวร้าวเป็นสิ่งที่เราไม่ยอมรับ แต่เราเข้าใจความรู้สึกเขา และเตรียมทางออกที่เหมาะสมเอาไว้ วิธีนี้ต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ แม้จะพบว่าเด็กมีอาการอีกเป็นครั้งคราวเพราะเด็กยังระงับอารมณ์ได้ไม่หมด



3. ไม่ควรตอบตกลง หรือต่อรองกันในขณะที่เด็กมีอารมณ์หรือพฤติกรรมก้าวร้าว เพื่อให้เด็กเรียนรู้ว่า ผู้ใหญ่จะตอบสนองความต้องการของเขา เฉพาะในช่วงที่อารมณ์สงบ และมีพฤติกรรมที่เหมาะสมเท่านั้น



4. ผู้ใหญ่ต้องระวังที่จะไม่มีอารมณ์ตอบโต้เด็ก หรือเอาชนะกัน



5. การลงโทษเด็กไม่ควรใช้ความรุนแรง อาจใช้วิธีแยกเด็กอยู่ตามลำพังระยะหนึ่ง (Time Out: 1 นาทีต่อเด็กอายุ 1 ปี) โดยมีการสื่อให้เด็กเข้าใจว่า การรบกวนผู้อื่นเป็นสิ่งไม่สมควร เมื่อสงบแล้วค่อยมาพูดจากันใหม่ บางครั้งอาจใช้วิธีงดสิทธิบางอย่างเข้าช่วยด้วย



6. ฝึกให้เด็กรับผิดชอบต่อการกระทำที่ไม่เหมาะสมของตนเอง เช่น ซ่อมแซมของที่ชำรุดเสียหาย (โดยพิจารณาตามความเหมาะสมค่ะ)



7. หลีกเลี่ยงการตำหนิ ต่อว่า เปรียบเทียบ ให้เด็กรู้สึกเป็นปมด้อย การขู่หรือหลอกให้กลัว ตลอดจนการยั่วยุให้โกรธ โดยผู้ใหญ่ต้องเป็นตัวอย่างของความปรองดอง เป็นมิตรต่อกันให้เด็กเห็น







เรียบเรียงข้อมูลจาก: สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี



ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTV ผู้จัดการ

ป้ายกำกับ:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก