Na Na Sa Ra [นานา สาระ]

วันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ปรัชญาพอเพียงเรื่องที่เข้าใจได้ใกล้ๆ ตัว

คอลัมน์ สนทนากับเลขาธิการ

โดย วิสิฐ ตันติสุนทร

หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคิดค้นและพระราชทานนั้น ทรงเน้นถึงหลักการสำคัญ 3 ประการ คือ ความพอประมาณ การใช้ความรู้และเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว และก็เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักยึดที่ปลอดภัย ถูกต้อง สามารถประยุกต์ใช้ได้จริงทุกระดับทั้งจุลภาคและมหภาค ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ ทั้งในการดำเนินชีวิต การบริหารบ้านเมือง และการบริหารกิจการ

สิ่งสำคัญในการนำหลักปรัชญาดังกล่าวมาปรับใช้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ต้องเข้าใจถึงแก่นแท้ของคำว่าเศรษฐกิจพอเพียง อย่างในระบบธุรกิจนั้น คำว่า ความพอประมาณ หากพิจารณาโดยรวมแล้วก็หมายถึง การประกอบกิจการที่ค่อยเป็นค่อยไป ขยายกิจการบนความรอบคอบและการประเมินสถานการณ์อย่างถี่ถ้วนบนความสามารถหรือในธุรกิจที่ตนเองมีความเชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ ที่ผ่านมาหลายธุรกิจมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในทิศทางที่ไม่ใช่อาชีพหรือหน้าที่หลักของตนเอง สุดท้ายก็ต้องปิดตัวเองลงเนื่องจากขาดความรู้และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องก่อให้เกิดหนี้สินตามมา สุดท้ายก็กลายเป็นหนี้ที่ไม่สามารถชำระคืนได้หรือเอ็นพีแอล

ในด้าน การใช้ความรู้และเหตุผล นั้น ถ้าเปรียบเทียบกับตัวเราเองแบบง่ายๆ ก็หมายความว่าก่อนที่เราจะตัดสินใจหรือลงมือทำอะไรก็ตามเราควรต้องมีข้อมูลในเรื่องนั้นๆ อย่างเพียงพอ และควรได้ศึกษาข้อมูลปัจจัยพื้นฐานในเรื่องนั้นอย่างถ่องแท้ หลายคนตัดสินใจจากความพึงพอใจส่วนตัว จากข้อมูลในอดีต หรือข้อมูลจากคนรอบข้างที่ไม่มีความรู้ในเรื่องนั้นๆ อย่างแท้จริง และสุดท้ายด้าน การมีภูมิคุ้มกันที่ดี ก็หมายถึงรากฐานที่มั่นคง เปรียบเทียบกับร่างกายของคนเรา หากร่างกายแข็งแรงก็ไม่ต้องเสี่ยงกับโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ซึ่งเมื่อนำมาพูดถึงการทำธุรกิจ รากฐานที่แข็งแรงจะมาจากการวิเคราะห์ วางแผนอย่างบูรณาการและเป็นระบบ ที่สำคัญมีผลการวิจัยเป็นข้อมูลประกอบที่สำคัญ

ด้วยเหตุนี้ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงมีความอมตะอยู่เหนือกาลเวลา ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย และสามารถใช้ประโยชน์ได้ในทุกมิติ กบข. ในฐานะกองทุนเงินออมระยะยาวที่สนับสนุนหลักการพอประมาณได้ส่งเสริมให้เกิดการออมเพื่อให้สมาชิกสามารถพึ่งพาตนเองได้เมื่อพ้นวัยทำงาน โดยอยู่บนพื้นฐานของการรักษาสมดุลระหว่างการบริหารผลตอบแทนและความเสี่ยงที่ยอมรับได้ บริหารงานด้วยความใส่ใจ ระมัดระวัง และอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ได้จากการศึกษาวิเคราะห์อย่างมืออาชีพสอดรับกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทาน

ป้ายกำกับ:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก