Na Na Sa Ra [นานา สาระ]

วันศุกร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2552

วิธีรับมือไข้หวัด ผดผื่น และปวดท้องแบบง่าย ๆ

ถึงแม้เราจะดูแลลูกเป็นอย่างดีแล้ว แต่เรื่องเจ็บไข้ได้ป่วยเนี่ยเกิดขึ้นกับเด็กๆ ได้เสมอค่ะ โดยเฉพาะเรื่องเป็นไข้ ผดผื่น ปวดท้อง ฯลฯ ซึ่งเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่มีวิธีรับมือหรือแก้ปัญหาที่ถูกต้องเหมาะสมลูกของเราก็จะผ่านอาการป่วยไข้นั้นไปได้อย่างสบายค่ะ เรามาดูวิธีกันนะคะ
ตัวร้อน มีไข้
เมื่อลูกมีไข้แสดงว่าอุณหภูมิภายในร่างกายสูงกว่าปกติ คือ วัดได้เกิน 38 องศาเซลเซียส เวลามีไข้ลูกมักจะงอแง อาจจะมีอาการเหงื่อออก หนาวสั่น ปวดศรีษะ ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร ปากแห้ง คอแห้ง และอ่อนเพลีย
วิธีดูแลลูกเมื่อมีไข้
คุณแม่ควรหาเสื้อผ้าเนื้อบางเบา สบายๆ ให้ลูกสวมใส่เพื่อระบายความร้อน และให้ลูกนอนพักผ่อนมากๆ
เช็ดตัวด้วยน้ำอุณหภูมิปกติหรือน้ำอุ่นเพื่อลดไข้ให้ลูก
ให้ลูกกินยาพาราเซตามอลตามขนาดน้ำหนักตัวลูก คือ 10-15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
พยายามให้ลูกดื่มน้ำมากๆ
ถ้าลูกซึมผิดปกติ หรือไข้สูงนานกว่า 3-5 วัน หรือมีอาการชัก รีบนำส่งโรงพยาบาล ผดผื่น

เมื่อลูกมีผื่นขึ้น คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตว่าผื่นขึ้นบริเวณใด ลักษณะของผื่นที่เกิดเป็นอย่างไร เป็นดังนี้หรือเปล่า
ผดผื่นธรรมดา มักเกิดจากอากาศที่ร้อนอบอ้าว มีลักษณะเป็นตุ่มสีแดงเม็ดเล็กๆ ตามไรผม หน้าผากลงมาถึงหลังคอ บริเวณหลัง อาจมีตามข้อพับแขนขาเล็กน้อย ไม่ค่อยปรากฏที่ท้องหรือหน้าอก มีอาการคัน ซึ่งจะทำให้ลูกร้องงอแงแต่ไม่มีไข้
ผื่นลมพิษ มีลักษณะเป็นผื่นบวมแดง และเกิดมีรอยบวมต่างๆ บนผิวหนัง รอยมีขอบนูนชัดเจน เป็นๆ หายๆ มีอาการคัน และการเกาจะกระตุ้นให้เกิดผื่นมากขึ้น ผื่นแบบนี้เกิดจากปฏิกิริยาแพ้ต่อสารเคมีหรือแพ้อาหารจนเกิดการระคายเคือง
ผื่นผ้าอ้อม จะมีลักษณะเป็นผื่นแดง เป็นจุดๆ ที่ผิวหนัง บางครั้งอาจจะเกิดการอักเสบ มีน้ำเหลือง หรือเป็นผื่นชมพูปนแดงขนาดต่างๆ กัน อาจจะเป็นผื่นหนาบริเวณท้องน้อย ขาหนีบ รวมไปถึงตะโพก และต้นขา ผื่นประเภทนี้เกิดจากความเปียกชื้น ซึ่งเกิดจากการหมักหมมของอุจจาระปัสสาวะของลูกค่ะ
วิธีดูแลลูกเมื่อเกิดผื่น
ที่สำคัญก็คือการดูแลให้ผิวหนังแห้งและสะอาด
หมั่นอาบน้ำ ชำระร่างกายให้ลูก
หากเป็นผื่นที่ทำให้ลูกคัน ควรทาด้วยคาลาไมน์โลชั่น
พยายามอย่าให้ลูกเกาบริเวณที่ผื่นขึ้น ควรตัดเล็บลูกให้สั้นอยู่เสมอเพื่อป้องกันการเกิดแผลจากการเกา
กรณีที่พบว่าลูกเกิดผื่นผ้าอ้อม ให้ล้างบริเวณที่เกิดผื่นด้วยนำอุ่นแล้วซับให้แห้งทันที
เปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูกบ่อยๆ โดยเฉพาะเมื่ออุจาระหรือปัสสาวะ และควรปล่อยให้ก้นลูกได้สัมผัสอากาศบ้าง ไม่ต้องใส่ผ้าอ้อมให้ลูกตลอดเวลานะคะ ปวดท้อง

อาการปวดท้องของเจ้าตัวเล็กมีหลายสาเหตุ เช่น ท้องผูก ท้องอืด ท้องเฟ้อ และท้องเสีย ซึ่งลูกจะมีอาการงอแงโดยไม่ทราบสาเหตุ สำหรับทารกหรือเด็กเล็กที่ยังบอกไม่ได้ อาการที่แสดงออกเวลาที่ลูกปวดท้อง คือ กำมือ เกร็งเท้า ร้องกวน คุณพ่อคุณแม่
ท้องอืดท้องเฟ้อ ทารกสามเดือนแรก อาจจะมีอาการร้องโยเยได้มาก ทั้งจากการปรับตัว หรืออาจเป็นเพราะท้องอืดหรือท้องเฟ้อ
วิธีดูแลลูกเมื่อลูกท้องอืดท้องเฟ้อ
หลังมื้อนม คุณแม่ควรจับลูกให้เรอ โดยการอุ้มลูกพาดไหล่ ให้คางลูกเกยตรงไหล่คุณแม่ ท้องและลำตัวจะแนบตรงทรวงอกคุณแม่ ใช้มือลูบหลังแผ่วเบา จะช่วยให้ลูกสบายขึ้น และร้องน้อยลงได้

ท้องผูก เกิดจากอาการถ่ายไม่ออกหรือถ่ายยากของลูก
ควรให้ลูกดื่มน้ำให้เพียงพอและจัดอาหารที่มีกากใย เช่น ข้าว ผัก ผลไม้หรือน้ำผลไม้ เช่น น้ำส้ม น้ำลูกพรุน น้ำมะขาม ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ควรฝึกให้ลูกขับถ่ายเป็นเวลาด้วยค่ะ

ท้องเสีย คือ การที่ลูกถ่ายอุจจาระบ่อย เป็นน้ำเหลวๆ ซึ่งอาจทำให้ลูกเสียน้ำ รู้สึกอ่อนเพลีย และหากสูญเสียน้ำมากๆ ก็จะเป็นอันตรายได้ค่ะ ส่วนสาเหตุของท้องเสียนั้นอาจเป็นเพราะติดเชื้อไวรัส หรือ แบคทีเรีย
วิธีดูแลลูกเมื่อลูกท้องเสีย
ในช่วงแรกให้ลูกดื่มน้ำเกลือแร่ ORS ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป เพื่อทดแทนการเสียน้ำทางอุจจาระ ในกรณีที่ลูกอายุต่ำกว่า 2 ปี ให้ดื่มครั้งละ 2 ออนซ์ ในแต่ละครั้งที่ถ่าย
หากลูกอายุเกิน 3 เดือน กินอาหารเสริมแล้ว ให้กินโจ๊กข้าวต้มใส่เกลือครั้งละน้อยๆ บ่อยๆ และเพิ่มมื้ออาหารเพิ่มอีกหนึ่งมื้อ คือข้าวบดใส่เนื้อไก่หรือเนื้อปลา ถ้าลูกสบายดี อุจจาระจะนิ่มเป็นเส้นคล้ายยาสีฟัน ค่อยให้กินอาหารตามปกติค่ะ
หากลูกถ่ายมากขึ้นและมีอาการกระหายน้ำ ปากแห้งอุจจาระเป็นน้ำ ให้รักษาภาวะสูญเสียน้ำ โดยให้น้ำเกลือแร่ ORS หรือสารน้ำที่เตรียมใช้เองที่บ้าน (โดยใช้เกลือป่นสองหยิบมือ น้ำตาลทราย 2 ช้อนชา ใส่ในน้ำต้มสุก 1 แก้ว หรือ 8 ออนซ์) ให้กินเป็น 2 เท่าของปริมาณนมที่เคยกินอยู่ในช่วง 4 ชั่วโมงแรกจากนั้นกินนมผสมตามปกติครึ่งหนึ่งของที่เคยกินอยู่ และให้น้ำเกลือที่ผสมขึ้นกินสลับกันไป จนกว่าจะถ่ายน้อยครั้งลงและอุจจาระเป็นเนื้อขึ้น

ป้ายกำกับ: , , ,

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก